ความสำคัญและที่มาของปัญหาวิจัย โครงการกระเทียมปลอดภัยจากสารพิษ

garlic-618400_960_720
การเปรียบเทียบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดกระเทียมไทยและกระเทียมจีน Comparison of pharmacological activities of Thai and Chinese garlic extracts
ความสำคัญและที่มาของปัญหาวิจัย
กระเทียม (Allium sativum L.) เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์ อัลเลียซี้อี้ (Allium sativum L. Alliaceae) เป็นเครื่องเทศประจำครัวคนไทยมาช้านาน นอกจากการเป็นอาหารแล้ว กระเทียมยังจัดเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยามากมาย และถูกนำมาใช้รักษาโรคต่างๆ เช่นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง มาเป็นเวลานับพันปี (1) กระเทียมที่ขายในประเทศไทยมีหลากหลายสายพันธุ์ โดยหลักๆ ได้แก่กระเทียมไทย และกระเทียมจีน ถึงแม้จะมีการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกระเทียมอย่างกว้างขวาง (2-4) แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาถึงความแตกต่างของฤทธิ์ของกระเทียมไทยและกระเทียมจีนต่อสุขภาพมาก่อนวัตถุประสงค์
1. เพื่อเปรียบเทียบปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดจากกระเทียมไทยและกระเทียมจีน
2. เพื่อเปรียบเทียบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากกระเทียมไทยและกระเทียมจีน

วิธีทดลอง

    • 1. สารสกัด
      กระเทียมที่ใช้ในการศึกษาคือกระเทียมไทยและกระเทียมจีน นำมาคัดเอาเฉพาะกระเทียมที่สมบูรณ์ ไม่ฝ่อ ปอกเปลือกออก แล้วบดให้ละเอียดด้วยเครื่องปั่น จากนั้นสกัดด้วยตัวทำละลายที่เหมาะสม เพื่อให้ได้สารสกัดทั้งที่เป็นส่วนมีขั้วและไม่มีขั้ว ทำให้แห้งเป็นผงด้วยเครื่อง lyophilizer และนำไปทำการทดลองต่อไป
    • 2. การวัดปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ
      สาระสำคัญที่ออกฤทธิ์ในกระเทียมมีหลายกลุ่ม สารกลุ่มใหญ่ได้แก่สารประกอบฟีนอล ดังนั้นในการศึกษาครั้งนี้จะทำการตรวจวัดสารประกอบฟีนอลรวมในสารสกัดกระเทียมไทยและกระเทียมจีนโดยใช้ Folin-Ciocalteu assay นอกจากนี้ยังจะทำการตรวจวัดสารออกฤทธิ์สำคัญในกระเทียมคือ alliin ด้วยวิธี High performance liquid chromatography (HPLC)
  • 3. การทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
    • 3.1 ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ทดสอบฤทธิ์ในการกำจัดอนุมูลอิสระทำในหลอดทดลองด้วยวิธี DPPH และ ABTS assay
    • 3.2 ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำการศึกษาโดยใช้เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดมาโครฟาจน์จากหนู เลี้ยงร่วมกับสารสกัดกระเทียม ในภาวะที่มีตัวกระตุ้นเป็น lipopolysaccharide แล้ววัดปริมาณไนตริกออกไซด์ และไซโตไคน์ที่หลั่งออกมาเมื่อมีการอักเสบ
    • 3.3 ฤทธิ์ต้านมะเร็ง ทำการเลี้ยงเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆร่วมกับสารสกัดกระเทียม แล้ววัดการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งด้วยวิธี MTT assay
    • 3.4 ฤทธิ์ส่งเสริมความแข็งแรงของกระดูก ทำการศึกษาโดยนำเซลล์กระดูกอ่อนมาบ่มกับสารสกัดกระเทียมแล้ววัดปริมาณ HA และ GAG ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในกระดูก
ในช่วงแรกจะทำการศึกษาในส่วนของการหาปริมาณสาระสำคัญในกระเทียม ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็งบางชนิดเช่นมะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ และฤทธิ์ส่งเสริมความแข็งแรงของกระดูก จากนั้นในช่วงที่ 2 จึงจะทำการทดสอบในส่วนที่เหลือทั้งหมด
ผลที่คาดว่าจะได้รับ ข้อมูลของฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกระเทียมไทยเปรียบเทียบกับกระเทียมจีนในการป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจ ฤทธิ์ต่อต้านเซลล์มะเร็ง ฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และฤทธิ์ส่งเสริมความแข็งแรงของกระดูก สามารถนำไปใช้ส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากกระเทียมไทยได้
Message us